ถ้าเกิดเหตุระเบิดในสนามกีฬา มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
ทีมกู้ชีพจะช่วยใครก่อนดี
เราควรช่วยคนที่อาการหนักใกล้ตายก่อน ใช่ไหมครับ
.
ในภาพวาดเห็นว่า คนอาการหนักสีแดงไม่มีใครไปดูแล
เพราะคนเรามักไปช่วยผู้บาดเจ็บที่ตะโกนเรียกเรา
เขาร้องโอดโอย เราจึงเข้าไปช่วยเขาก่อน
ในภาพให้ดูคนสีเหลือง
ส่วนคนสีเขียวก็เดินวุ่นวานตื่นตระหนกไปมา
.
กว่าจะไปช่วย คนสีแดงตายไปแล้วครับ
.
จึงต้องมีการคัดแยก หรือทรีอาช คนไข้ครับ
ผู้บาดเจ็บใกล้ตาย ควรได้รับการช่วยเหลือก่อน
เราแบ่งคัดแยกเป็นสามสี คือ แดง เหลือง เขียว
.
เขียว คือ ผู้บาดเจ็บที่เดินได้
ขอให้เขาเดินออกมาจากที่เกิดเหตุ
มาอยู่ในสถานที่ปฐมพยาบาล
เช่น ลานกว้างด้านหน้า
.
สีแดง คือ ผู้ป่วยใกล้ตาย
เช่น ขาขาดเสียเลือดมาก
หมดสติ คอพับ หยุดหายใจ
หายใจเหนื่อยหอบ เฮือกสุดท้าย
ไม่รีบช่วย ก็ตายครับ
.
สีเหลือง คือ ผู้บาดเจ็บที่เดินไม่ได้
เขาจะนั่ง หรือนอนกับพื้น
แต่ยังมีสติ ยังร้อง พูดคุยได้
ไม่มีอะไรที่ให้ตายเฉียบพลัน
หลังจากช่วยผู้บาดเจ็บสีแดงแล้ว
เราจะช่วยเขาต่อมา
.
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใคร แดง เหลือง เขียว
คงไม่ใช้ความรู้สึก หรือสัญชาตญาณครับ
.
มีหลักพื้นฐานว่า
สามสิบ สอง คุณทำได้
.
สามสิบ คือ หายใจมากกว่าสามสิบครั้ง
ถือว่าแย่ จัดเป็นสีแดง
.
สอง คือ กดปลายเล็บดูการคืนตัวของสีเล็บ
ถ้านานกว่าสองวินาที ถือว่าแย่ จัดเป็นแดง
.
คุณทำได้ คือ ถ้าปลุกไม่ตื่น หรือตื่นแต่สับสน
ไม่ทำตามสั่ง ถือว่าแย่ จัดเป็นสีแดง
.
หลักการนี้ง่าย เร็ว ไม่ต้องท่องจำอะไรมาก
กู้ชีพทุกระดับคัดแยกได้เร็ว
หลักการนี้เรียกว่า สตาร์ท ทรีอาช
S.T.A.R.T. Triage
เป็นต้นตระกูลการคัดแยก คิดมาตั้งแต่ปี 1980
.
แต่มันมีจุดอ่อนครับ
ถ้าเกิดเหตุกลางคืน จะมองสีเล็บไม่เห็น
อากาศหนาว เล็บก็ม่วงเขียว จะไปตรวจอะไรได้
การนับว่าคนไข้หายใจกี่ครั้ง มันก็ไม่ง่ายครับ
คือ บางครั้งมองด้วยตาก็รู้ว่าเหนื่อย หอบจะแย่แล้ว
เราต้องจับเวลาหนึ่งนาที เพื่อบอกว่าเขาหายใจกี่ครั้ง
เกินสามสิบครั้งต่อนาทีไหม
แต่ สตาร์ท ทรีอาช ก็ไม่ได้แย่นะครับ
เป็นต้นแบบแนวคิดการคัดแยกเลยครับ
.
หลายท่านที่เรียนการคัดแยก อาจสงสัย
เหมือนผมเองสมัยเรียน
มันไม่ได้มีแต่ สตาร์ท ทรีอาช
.
มันมี ทรีอาชซีฟ, เซาท์ ทรีอาช
ทรีอาช ซอล์ท
Sieve, Sort, SALT
.
จะบอกว่ามันไม่ได้มีแค่นี้ครับ
ในโลกใบนี้มีคนคิดค้นการคัดแยก
หรือทรีอาช ยี่สิบแบบครับ
ยี่สิบวิธีจริงๆครับ
พระเจ้ามันเยอะมาก
.
เขาพยายามแก้ปัญหาจุดอ่อนของวิธีดั้งเดิม
เช่น คุณจะไม่รักษาอะไรเบื้องต้นเลยเหรอ
คุณจะพันผ้าสี แล้วก็เดินจากคนไข้ไปเลยเหรอ
.
ทรีอาช ซอล์ท ก็เลยให้เปิดทางเดินหายใจด้วย
ให้เจาะปอดระบายแรงดันลมคั่งด้วย
ให้ห้ามเลือดที่ไหลไม่หยุดด้วย
และไม่ต้องไปนับว่าหายใจกี่ครั้ง
แค่เห็นว่าคนไข้เหนื่อย หายใจเร็ว หอบ
ก็จัดเป็นสีแดงได้เลย
.
ปัญหาอยู่ที่ผู้เรียนครับ
การคัดแยกบานเบิกยี่สิบวิธี
จำไม่ได้ครับ สับสนและปนกัน
พอเจอเหตุจริง เลยไม่กล้าคัดแยกเลย
.
คำตอบคือ ไม่มีการคัดแยกใดดีที่สุดครับ
เขาออกแบบมาให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่
ในหน่วยงานของเรา
ในโรงพยาบาลของเรา ก็มักเลือกการคัดแยก
ที่ชอบ ที่ง่าย ที่เหมาะกับเรามากที่สุด
.
แต่พื้นฐานความรู้ ก็มาจาก
สามสิบ สอง คุณทำได้ นี่เองครับ
.
จริงแล้วยังมีสีดำด้วยครับ
สีดำคือตายครับ
ผู้บาดเจ็บตายแล้ว
.
อีกคำถาม แล้วจะปั๊มหัวใจไหม
ถ้าทีมกู้ชีพเพียงพอ กำลังเสริมมาแล้ว
ก็ปั๊มหัวใจครับ
.
แต่ถ้าทีมไม่พอ ก็คือตาย
ถ้าเราปั๊มหัวใจคนบาดเจ็บสีดำ
คนบาดเจ็บสีแดงจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ
เขาก็จะตายตามครับ
.
ลองอ่านงานวิจัยที่ผมแนบไว้
จะได้ความรู้เพิ่มเติมอีกครับ
Comentarios