คนท้องก็หัวใจหยุดเต้นได้ครับ ปั๊มหัวใจคนท้อง
มีอะไรที่ต่างจากคนปกติบ้าง?
.
1. ปั๊มหัวใจคนท้อง ก็ต้องติดเครื่องเออีดี
หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเสมอ
เพราะคนท้องก็มีหัวใจเต้นพริ้วผิดจังหวะได้เช่นกัน
ซึ่งต้องรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า
ไม่ต้องกลัวลูกในท้องจะถูกไฟช็อต
เพราะถ้าไม่รักษาแม่ไว้ ลูกก็ตายครับ
.
2. มดลูกที่โต จะกดเบียดเส้นเลือดดำในท้อง
ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจได้ยาก
ขณะปั๊มหัวใจ ต้องโกยหรือผลักมดลูกไปด้านซ้าย
.
ในภาพเห็นเส้นเลือดดำสีน้ำเงินอยู่ด้านขวาของคนไข้
ถ้ามดลูกโต อายุครรภ์มาก ก็จะกดเบียดเส้นเลือดดำนี้
ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี โอกาสรอดชีวิตลดลง
เราต้องผลักมดลูกออกไปด้านซ้ายของคนไข้
จะทำให้เส้นเลือดดำนี้ไม่ถูกกดเบียด
เลือดจะไหลเวียนได้ดีขึ้น
.
3. ถ้าคนท้องหัวใจหยุดเต้นบนเตียงคลอด
หรือเตียงผ่าตัดให้ทำอย่างไร
ทำเหมือนปั๊มหัวใจผู้ใหญ่ครับ เรียกทีมช่วยเหลือ
จับคนไข้นอนราบ เอาแผ่นกระดานแข็งรองหลัง
ไม่ปั๊มหัวใจบนเตียงนุ่มโดยไม่รองกระดาน
เพราะแรงกดไปหัวใจไม่ดีครับ
ติดเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ
อ่านคลื่นหัวใจว่าต้องทำการรักษาด้วยไฟฟ้าหรือไม่
ถ้ามี ให้รีบช็อตไฟฟ้า
.
4. หาสัญญาณเตือนก่อนหัวใจหยุดเต้นดีกว่าครับ
เช่น หากตกเลือดจากการคลอดบุตร
จะมีชีพจรเร็ว หน้ามืด ปากซีด ความดันต่ำ
หรือครรภ์เป็นพิษ จะมีความดันสูงมาก
มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ มีตาพร่ามัว และอาจชักได้
.
คนท้องที่มาคลอดบุตร ไม่ได้หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน
แบบไม่มีสัญญาณเตือน ต่างจากเคสอุบัติเหตุ
ที่การบาดเจ็บคาดการณ์ไม่ได้
.
5. มีการผ่าคลอดที่ห้องฉุกเฉินจริงหรือ
มีจริงครับ ลองอ่านข้อสองดูครับ
เพราะมดลูกโต กดเบียดเส้นเลือดดำในท้อง
แม้เราจะโกยมดลูก แต่มันก็กดอยู่ดี
การเอาเด็กออกไปเลย ทำให้เลือดในร่างกายแม่
ไหลเวียนได้ดีขึ้น
.
อีกประการ ถ้าแม่หัวใจหยุดเต้น เลือดก็ไปเลี้ยงลูกไม่ได้
โอกาสเด็กตายในครรภ์มีสูงมาก
เราทำคลอด ผ่าตัดฉุกเฉิน เอาเด็กมากู้ชีพใส่ตู้อบ
เด็กมีโอกาสรอดมากกว่า
แต่วิธีผ่าคลอดฉุกเฉินนี้ ต้องกระทำภายในสี่นาที
หลังจากมารดาหัวใจหยุดเต้น
เพราะถ้าช้ากว่านี้ โอกาสรอดเข้าใกล้ศูนย์
(Perimortem Ceasarean Section)
.
ไม่ใช่ทุกสถานพยาบาลจะมีความพร้อมด้วยครับ
.
บทความเพื่อการศึกษาเท่านั้น
コメント