top of page

ทีมโดนทำร้าย ตบหัวพยาบาลขณะปั๊มหัวใจ เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผมครับ



มุมมืดห้องฉุกเฉิน: ตบหัวพยาบาล

บางทีญาติคนไข้ก็เป็นฝ่ายเริ่มก่อน

ผมเล่าให้ฟัง...

“กริ๊ง กริ๊ง” เสียงกริ่งดังสองครั้งในห้องฉุกเฉิน

เป็นสัญญาณบอกว่ามีเคสด่วน

ต้องออกไปรับที่เกิดเหตุ

.

ผมกำลังกินข้าวอยู่ในห้องครัว

ก็เป็นอันว่าต้องวางช้อนส้อมทันที

ปิดฝาชีครอบ หวังว่าคงได้กลับมากินอีก

.

“แจ้งเหตุหญิงสูงอายุหมดสติครับหมอ...

หมู่บ้านใกล้ๆนี่เอง”

เจ้าหน้าที่ทีมฉุกเฉินรายงานเคสให้ผมทราบ

.

รถพยาบาลจอดรอหน้าประตูห้องฉุกเฉิน

เปิดไฟกระพริบสีน้ำเงินสลับแดงเรียบร้อยแล้ว

.

“ขึ้นรถเลยครับ ไม่ลืมอะไรนะ?”

.

คือ ผมต้องเช็คก่อนเสมอ

ว่าเราเอาอุปกรณ์ไปครบหรือเปล่า

.

มีอยู่ครั้งนึงลืมเอาหน้ากากช่วยหายใจคนไข้ไป

ไปถึงที่บ้านคนไข้ เปิดกระเป๋าสีแดงใบใหญ่

ปรากฎว่าอุปกรณ์ไม่ครบ

.

งานเข้าเลยครับ

.

ประสบการณ์สอนให้ผมต้องระมัดระวัง

ทุกครั้งที่ออกรับเหตุ

.

ภายในเวลาไม่ถึงสิบนาทีก็ถึงบ้านคนไข้

เป็นหญิงวัยชรา ทีมกู้ชีพก่อนหน้า...

กำลังกดหน้าอกปั๊มหัวใจอยู่

.

พยาบาลฉุกเฉินก็รีบหยิบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ

ไปติดที่หน้าอกคนไข้โดยเร็ว

.

“หยุด! รอเครื่องอ่านก่อน”

พยาบาลแบมือทั้งสองข้างยกขึ้นระดับอก

เป็นสัญญาณบอกให้กู้ชีพที่กำลังปั๊มหัวใจ

หยุดกดหน้าอก ....

.

เพราะเราต้องให้เครื่องกระตุกไฟฟ้า

ประเมินก่อนว่า...

ต้องรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือไม่?

.

“วีเอฟ... เตรียมช็อค”

ผมบอกทีมให้เตรียมพร้อม

ให้ทุกคนเอามือออกจากคนไข้

เพราะผมกำลังจะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า

เข้าไปที่หัวใจคนไข้

.

หากลูกทีมไม่หลบไป

ก็อาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้

ความแรงของไฟทำให้หมดสติได้เลยครับ

ส่วนคำว่า วี-เอฟ

เป็นคำศัพท์แพทย์ที่บอกว่า...

คลื่นหัวใจเต้นพริ้วครับ

.

“ผมถอย...คุณถอย...ทุกคนถอย”

ผมบอกด้วยคำพูดช้าๆ แต่หนักแน่น

สายตามองลูกทีมว่าถอยห่าง

มือไม่สัมผัสคนไข้จริงๆ

.

“ผั๊วะ!”

นี่ไม่ใช่เสียงการกระตุกไฟฟ้าครับ

.

แต่เป็นมือของผู้ชายคนนึง

ปลิวว่อนเข้ามาตบที่ศีรษะพยาบาลผู้หญิง

จนล้มคะมำ...

.

“เมิงทำเชี่ยอะไรแม่กรู”

ชายคนนั้นตะโกน น้ำเสียงดุดัน

สายตาจ้องเขม็ง ตาแดงก่ำ

.

“เมิงทำเชี่ยอะไร๊ !” เงื้อมือจะเหนี่ยว...

ตบกระบาลอีกรอบ

มีคนเข้าไปล็อกตัวห้ามไว้ทัน

.

พยาบาลกระเด็นไปกองที่พื้นเลยครับ

.

ผมโกรธมาก ในใจผมคิด

 “กรูไม่ช่วยแมร่งแล้ว...

ปล่อยให้ตายไปเลย ลูกทรพี”

มาทำกับพยาบาลของผมได้ไง

.

ผมบอกตามตรงคิดจะลุกขึ้นไป...

กระโดดถีบยอดอกแล้วครับ

.

แต่สติมันพุ่งขึ้นมา

.

“เก็บของครับ...

เราจะย้ายคนไข้ออกจากตรงนี้ให้เร็วที่สุด”

.

น้ำเสียงผมราบเรียบมาก ไร้อารมณ์

แต่เป็นคำพูดที่หนักแน่นของผมที่เป็นหัวหน้าทีม

.

ผมกำลังคุมสถานการณ์

ด้วยสัญชาตญาณของผม

อย่างน้อยผมก็มีฝ่ายคุณธรรมมากกว่าบ้าง

ทั้งๆที่ใจจริงอยากเหนี่ยวกลับมากครับ

.

หลักการหนึ่งเวลาเราดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาล

สิ่งแรกที่ต้องรู้ นั่นคือ...

สถานการณ์ต้องปลอดภัยก่อนครับ

.

ถ้าไม่แน่ใจอย่าเข้าไปช่วยคนไข้

ไม่มีคำว่าพระเอกในทีมฉุกเฉินครับ

.

ทีมเรามากี่คน เราต้องกลับเท่านั้น

ต้องไม่มีใครบาดเจ็บเพิ่ม

.

การเสียลูกทีมสักคนเป็นสิ่งที่งานกู้ชีพ...

นอกโรงพยาบาล"ไม่"อาจยอมรับได้ครับ

.

ตรงนั้นไม่ปลอดภัยมาก

ถ้าผมลุยเดี่ยวตบคืน...

(ซึ่งผมอาจทำแน่ อย่าท้า! )

(คิดว่าผมกลัวเหรอ จะกระทืบให้คาตรีนเลย)

.

เขาอาจชักปืนมายิงตายกันหมดก็ได้

ตอนนั้นผมคิดว่าถอยดีกว่า

แต่ผมว่าไม่น่าเรียกว่า "ถอย"

น่าจะ"หนี"มากกว่าครับ

.

ลูกทีมเก็บของอย่างรวดเร็ว

คนไข้นอนอยู่บนแผ่นกระดานสีแดง...

ที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอยู่แล้ว

กู้ชีพคนนึงลากแผ่นกระดานพร้อมคนไข้นอน

ซึ่งปกติเราจะยกครับ แต่นี่ลากไถไปกับพื้น

เพราะเราจะหนีไงครับ

.

เรียกว่า “ไถหนี” ออกให้เร็วที่สุด

.

จากนั้นคนอื่นๆช่วยกันยกคนไข้

ขึ้นรถพยาบาลอย่างรวดเร็ว

พอเห็นภาพคำว่า “หนี” ไหมครับ?

.

ปิดประตูหลัง เราก็ปั๊มหัวใจกันต่อ

พยาบาลใช้มือข้างนึงโหนราวตรงกลางรถพยาบาล

ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงรถเมล์...

ที่มีราวจับตรงกลางครับ

มืออีกข้างก็ปั๊มกดหน้าอกคนไข้

.

มาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าคงมีคนแย้งว่า

ทำไมปั๊มหัวใจไม่ใช้สองมือประกบกัน

 ทำไมพยาบาลใช้มือเดียว

.

“พ่อเจ้าประคู้ณ รถเหยียบเกินร้อยแปดสิบ

แกว่งอย่างกับรถไฟเหาะ

แค่ดิฉันยืนปั๊มหัวใจได้

ไม่กระเด็นออกจากรถ ก็บุญแล้วค่ะ”

.

มาถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

 “เออ...ยายรอดแฮะ”

หัวใจกลับมาเต้นอีก

ผมส่งไปนอนหอผู้ป่วยวิกฤติ ไอซียู

.

“สงสัยยายยังไม่หมดกรรมกับลูกทรพี”

 ผมคิดในใจ ก็ยังแค้นอยู่ครับ

.

“หนูขอโทษแทนพ่อหนูด้วยนะค่ะคุณหมอ"

'แกเมา” เปิดไพ่คนเมาไม่ผิด (สาระเลว)

.

ลูกสาวชายนักตบกล่าวขอโทษขอโพย

แต่คนก่อเหตุไม่เห็นวี่แววเข้ามา

.

“หมอไม่ติดใจหรอกครับ

แต่ไปเจอกันที่สถานีตำรวจนะครับ

รอทีมผมลงเวรก่อน”

.

ผมทำสีหน้าเรียบนิ่ง

ตอบแบบไม่อยากเสวนาด้วย

.

สุดท้ายก็โดนปรับไปแค่ห้าร้อยบาท

ข้อหาทำร้ายร่างกายครับ แค่นั้น

สงสารพยาบาลก็ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย

.

ที่ประเทศสิงคโปร์นะครับ

ถ้าเกิดเหตุทำร้ายพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่แบบนี้

คุณลูกทรพีติดคุกไปแล้วครับ

.

สุดท้ายถ้าเหตุการณ์วันนั้นผมใจร้อน

ไม่ยั้งมือ ยั้งอารมณ์

.

ผมคงไม่มีโอกาสมาเขียนหนังสือ

ให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวในห้องฉุกเฉินครับ

ผมคงจมกองเลือดอยู่ที่บ้านคนไข้แล้วครับ

.

บางครั้งคนทำร้ายเราก็คือญาตินี่แหละ

เสี้ยวนึงในมุมมืดห้องฉุกเฉิน

.

#ห้องฉุกเฉินต้องรู้

0 views

Comentarios


bottom of page