top of page

ทำไมคนไข้อุบัติเหตุต้องคิดให้เป็นระบบ?

เห็นคนไข้ในภาพนี้ เราจะให้การรักษาอย่างไรดีครับ

ผมโพสต์ถามไปคราวก่อน หลายท่านกรุณาให้ความเห็น

ขอบพระคุณมากครับ คำตอบก็เช่น ห้ามเลือด

ปิดแผลที่หน้าอก เป็นต้น

.

สมัยยี่สิบปีก่อน เราก็รักษาคนไข้อุบัติเหตุกันแบบนี้ครับ

คือเห็นการบาดเจ็บตรงไหนก็รักษาตรงนั้น

เช่น เห็นเลือดออกมากที่แขนซ้าย

ก็เอาขันชะเนาะไปขันจนเลือดหยุดไหล

.

แต่มันก็จะพลาดซิครับ พลาดสิ่งที่เรามองไม่เห็น

เช่น คนไข้รายนี้อาจจะมีเยื่อหุ้มปอดรั่วก็ได้

เพราะรถเหยียบหน้าอก บดขยี้ มีบาดแผลฉกรรจ์

สิ่งที่อยู่ด้านล่าง เช่น ซี่โครง เยื่อหุ้มปอดน่าจะฉีกขาด

หากมากกว่านั้น ตำแหน่งนี้คือด้านซ้าย

อาจกระทบกับหัวใจ มีเยื่อหุ้มหัวใจมีเลือดคั่งก็ได้

.

คนไข้เดินถนน แล้วถูกรถชน รถก็ลากไปไกล

อวัยวะในช่องท้องไม่น่าจะเหลือ

อาจจะมีตับแตก ม้ามแตก

แม้แต่เส้นเลือดแดงเอออร์ต้า ฉีกขาดก็ได้

ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นครับ

พอไม่เห็นเราก็จะไม่รักษาไงครับ

.

แล้วกระดูกล่ะครับ กระดูกไม่น่าจะเหลือ

ถ้ากระดูกต้นแขนหัก เรามองเห็นแขนเบี้ยวผิดรูปร่าง

เราก็เริ่มดามกระดูกแขน

แต่ยังมีกระดูกอีกชิ้นที่อาจหัก แต่เรามองไม่เห็นก็มี

นั่นคือ กระดูกอุ้งเชิงกราน

มันก็คือกระดูกสะโพก กระดูกหัวหน่าวครับ

ตรงนี้มีเส้นเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก

หากกระดูกอุ้งเชิงกรานแตก จะเสียเลือด

ปริมาณมาก คนไข้อาจช็อกตายก่อนได้

การรักษาด้วยการรัดสะโพกจึงสำคัญมาก

.

แล้วสมองหล่ะครับ คนไข้น่าจะซึม

เขาซึมจากช็อกเสียเลือด หรือเขามีเลือดออกในสมอง

เราจะทราบได้อย่างไร

นี่เรายังไม่ได้พูดเรื่องกระดูกคอเลยครับ หักหรือเปล่า

แล้วยังมีทางเดินหายใจอีก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจไหม

.

อ่านแล้วดูเยอะใช่ไหมครับ แล้วเราจะจำได้ยังไง

คือ ยุคนี้ เรารักษาคนไข้อุบัติเหตุอย่างเป็นระบบครับ

หลายท่านอาจเคยได้ยินหลักสูตร

PHTLS, ATLS เป็นต้น

เขาจัดระบบความคิดในการดูคนไข้อุบัติเหตุ

ให้รู้ลำดับว่าควรทำอะไรก่อนหลัง

เพื่อจะได้พลาดน้อยที่สุด

ปรัชญาของทุกหลักสูตรจะมีแก่นเดียวกัน

แต่รายละเอียดก็แล้วแต่สถานการณ์

เช่นการดูแลคนไข้บนถนน

ก็อาจจะต่างกับการรักษาบนเตียงฉุกเฉินบ้าง

.

แล้วแก่นมันคืออะไรที่ตรงกันบ้าง

1. สถานการณ์ต้องปลอดภัย

การเข้าไปช่วยคนไข้อุบัติเหตุ ต้องแน่ใจ

ว่าสถานที่ปลอดภัยหรือยัง เช่น เหตุการณ์ระเบิด

เรามั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดระเบิดลูกที่สอง

.

ผมเคยเข้าไปช่วยเหตุการณ์คนไข้ต่างชาติคลั่ง

ถือมีดวิ่งไปทั่วชายหาด

สิ่งที่ทีมกู้ชีพทำคือ อยู่ในรถพยาบาล ยังไม่ออกไป

และขอความช่วยเหลือตำรวจครับ

.

ถ้าเราดุ่ยๆเข้าไป เราโดนแทง

ทีมกู้ชีพต้องเปลี่ยนภารกิจมากู้ชีพเราแทน

คนไข้ที่โดนแทงก่อนหน้าก็จะไม่มีใครมาช่วย

เซฟตัวเรา ก็คือเซฟคนไข้ด้วยครับ

.

2. อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดี

เราอาจได้รับการบาดเจ็บจากการเข้าไปช่วยก็ได้

เช่น โรงงานแอมโมเนียระเบิด

ถ้าเราวิ่งเข้าไปเอาคนไข้ออกมา

เราก็จะสูดไอของแอมโมเนียได้

ระยะเวลาไม่นาน เราจะสำลัก น้ำท่วมปอด

แล้วเราก็จะหมดสติครับ

สรุปช่วยใครไม่ได้เลย

.

หรืออุบัติเหตุ คนไข้เลือดออกมาก

ถ้าเราสัมผัสเลือดเขาโดยตรง

เราอาจติดเชื้อหลายชนิดที่ผ่านทางเลือดได้

ถุงมือทางการแพทย์จึงสำคัญ

หากไม่มีก็ต้องประยุกต์เอาว่าจะใช้อะไร

ที่ป้องกันเลือดและสารคัดหลั่งได้ครับ

.

3. การห้ามเลือดที่ไหล-นองถึงตาย

คิดถ้าคนไข้โดนปาดคอ โดนเส้นเลือดแดง

เลือดพุ่งกระฉูดถึงเพดาน กี่นาทีตายครับ

ถ้าไม่ห้ามเลือด ไม่ถึงนาทีเลือดหมดตัว ตายครับ

การกดห้ามเลือดจึงสำคัญมาก

.

แล้วร่างกายคนเรามีเลือดอยู่กี่ซีซีครับ

เราคำนวณ70คูณน้ำหนักตัว

เช่น เราหนัก 60กิโลกรัม

เราจะมีเลือด 60คูณ70 เท่ากับ 4200ซีซี

หรือประมาณ4ลิตร

ประมาณน้ำถังหนึ่งขวดครับ

ถ้าเราเสียเลือด เราไม่มีถังเลือดสำรองในร่างกาย

เลือดหมด เราก็ตายครับ

จะปั๊มหัวใจยังไงก็ไม่รอด ถ้าเรายังเสียเลือดอยู่

ดังนั้นการห้ามเลือดสำคัญมาก

.

การห้ามเลือดที่เร็วและได้ผลดีคือ การกดครับ

เราเริ่มกดหน้าเลือดก่อนเลย

เช่น ระเบิดตู้ม ขาขาด เราเห็นเลือดไหลพุ่ง

เรากดที่แผล กดแน่น

.

เดี๋ยวผมมาเขียนต่อนะครับ

บทความนี้น่าจะยาวมาก

แต่มีประโยชน์ครับ

ผมมีบรรยายเช้านี้ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ครับ

กลับมาอ่านต่อกันนะครับ

Comments


bottom of page