สมมุติว่าเราอยู่ห้องฉุกเฉินตอนตีสาม
แล้วมีกู้ชีพนำส่ง เป็นคนไข้มาด้วยอาการชัก
คนไข้มีประวัติโรคประจำตัวเป็นติดสุราเรื้อรัง
ญาติบอกว่าคนไข้หยุดเหล้ามาสามวัน
.
พอมาถึงคนไข้ก็ยังชักเกร็งอยู่
คำถามว่าเราควรจะทำยังไงเป็นอันดับแรก?
.
เราต้องคุยเรื่องของ A-B-C-D
ระหว่างนี้ให้คุณพยาบาลเตรียมยากันชักก่อน
ยาที่เราเลือกใช้เป็นตัวแรก ชื่อว่า ไดอะซีแพม (Diazepam)
ขนาดให้ คือ 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว
ถ้าผู้ใหญ่สมมุติว่าหนัก 50 กิโลกรัม
ให้ที่ 0.2 x 50 ก็คือ 10 มิลลิกรัม
ซึ่งหนึ่งแอมป์ ก็คือ 10 มิลลิกรัม
.
ระหว่างที่พยาบาลกำลังเตรียมยากันชัก
เราก็เข้ามาที่ศีรษะคนไข้เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
ส่วนใหญ่ทำอะไรไม่ได้มากนัก จะให้จะยก-กรามคนไข้ขึ้น
ก็ทำไม่ได้เพราะคนไข้เกร็งมาก
สำหรับคนไข้ที่กำลังชักอยู่แนะนำให้ทำการตะแคง
การตะแคงใบหน้าคนไข้ช่วยป้องกันการสำลักได้ครับ
.
ประเด็นที่ผมจะคุยในวันนี้ คือ
คนไข้ชักที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง และขาดเหล้า
ภาษาแพทย์เขาเรียกว่า แอลกอฮอลิก-วิทดอร์
(Alcoholic withdrawal) หรือภาวะขาดสุรา
หรือบางครั้งก็เรียกอาการลงแดงครับ
ซึ่งทำให้ชักได้
.
การชักของคนไข้ขาดสุรากรณีนี้มีข้อน่าสนใจคือ
1. น้ำตาลในเลือดต่ำ
คนไข้ก็มาด้วยชักได้เหมือนกัน
ถ้าหากตรวจพบว่าน้ำตาลต่ำมาก
ก็ต้องให้น้ำตาลกลูโคสทดแทน
แต่ระวังก่อนครับ
อาจต้องให้วิตามินบีหนึ่ง
หรือที่เรียกว่า ไทอะมีนก่อนด้วย (Thiamine)
.
ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลายท่านคิดไม่ถึงนะครับ
เพราะว่าถ้าเราลำดับการให้ผิดเนี่ย
เราไปฉีดน้ำตาลกลูโคสก่อนที่จะให้ยาไทอะมีน
อาจทำให้สมองคนไข้เสียหายได้
ซึ่งเขาเรียกว่าโรค เวอร์นิเก้-โคซาคอฟ
(Wernicke-Korsakoff syndrome)
คือมีอาการตัวสั่น, ตากระตุก และมีภาวะสับสนได้
และมีความจำที่เสื่อมได้ เช่น จำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดไม่ได้
แต่อาจจะจำเรื่องในอดีตได้อยู่ เป็นต้น
.
สรุปว่าเราต้องให้ ยาไทอะมีน หรือวิตามินบีหนึ่ง
ขนาด 100 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดดำก่อนนะครับ
ก่อนที่จะให้น้ำตาลกลูโคส
ในกรณีที่คนไข้เมาเมาสุรา
หรือมาด้วยอาการชักที่คิดว่าเขาติดสุราเรื้อรัง
.
ถามว่ากลไกเกิดจากอะไรผมเล่าให้ฟัง
อย่างแรกในสมองคนเราจะใช้พลังงานได้
ต้องอาศัยวิตามินบีหนึ่งเป็นตัวช่วยในการสร้างพลังงาน
ทีนี้คนที่ดื่มสุราเรื้อรัง เขาจะขาดวิตามินบีหนึ่ง
เพราะวิตามินบีหนึ่งได้รับจากการกินเท่านั้นครับ
พอคนไข้ดื่มสุราเยอะหรือติดเหล้าเขาก็ไม่ค่อยกินข้าว
กินอาหารไม่ค่อยมีประโยชน์
เขาก็จะขาดวิตามินบีหนึ่ง
.
ถ้าหากว่ามีภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำ
แล้วปรากฏว่าเราไปฉีดกลูโคสก่อน
สมองที่มีวิตามินบีหนึ่งน้อยอยู่เดิมแล้ว
ก็จะกระหายน้ำตาลอย่างมาก
ทำให้เร่งการใช้วิตามินบีหนึ่งจนหมดไปเลยครับ
สมองจึงถูกทำลายมากกว่าเดิม
.
สรุปอีกครั้งครับ
เราต้องให้ ยาไทอะมีน หรือวิตามินบีหนึ่ง
ขนาด 100 มิลลิกรัมทางเส้นเลือดดำก่อนนะครับ
ก่อนที่จะให้น้ำตาลกลูโคส
ในกรณีที่คนไข้เมาเมาสุรา
หรือมาด้วยอาการชักที่คิดว่าเขาติดสุราเรื้อรัง
.
#ห้องฉุกเฉินต้องรู้
댓글